องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร : www.tambonphonngam.go.th
 
 
 


โครงการ ประชาชนมีส่วนร่วมคัดแยกขยะที่ต้นทาง สร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ ภายใต้โครงการอบรมการคัดแยกขยะ องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม จังหวัดยโสธร ประจำปีงบประมาณ 2562


โครงการ “ประชาชนมีส่วนร่วมคัดแยกขยะที่ต้นทาง สร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ”
ภายใต้โครงการอบรมการคัดแยกขยะ องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม จังหวัดยโสธร
ประจำปีงบประมาณ 2562
(โครงการต่อเนื่อง)
ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562
องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
————————————————————————–
1. หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนในการจัดการขยะ เมื่อปี พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ Roadmap ในการกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาขยะเก่าสะสม การคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และแปรรูปพลังงาน วางระเบียบมาตรการและสร้างวินัยคนในชาติ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวม กอปรกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559ได้เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันบริหารจัดการขยะมูลฝอย ประกอบกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายในพิธีมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประทศ ประจำปี พ.ศ. 2561 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และจังหวัดยโสธร ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทยว่า ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง” โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง” ระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้แผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง” ไปขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่
ซึ่งในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบ เนื่องจากสิ่งแวดล้อม ได้ถูกประชาชนทำลายไปมาก ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาสุขภาพอนามัย ซึ่งขยะมูลฝอยเป็นปัญหาหลักของสิ่งแวดล้อม ที่ยากจะแก้ไขและสาเหตุหนึ่งเกิดจากประชาชนไม่รู้จักวิธีการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่มีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 8.42 ตันต่อวัน การเก็บรวมขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่ได้ประมาณ 7.42 ตันต่อวัน มีขยะมูลฝอยตกค้าง 1.00 ตันต่อวัน โดยครัวเรือนนำมูลฝอยที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและรวบรวมได้ไปกำจัดเอง ปริมาณมูลฝอยที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยเฉลี่ย ประมาณวันละ 10.45 ตันหรือประมาณเดือนละ 313.64 ตัน ประกอบกับในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นการบริโภคในครัวเรือนจึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะจากครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยจะเห็นได้จากขยะมูลฝอยตามหมู่บ้านทั้ง 17 หมู่บ้าน มีอัตราเพิ่มขึ้นซึ่งขยะเหล่านั้นเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กล่องโฟม ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะพิษต่างๆ และขยะเหล่านี้ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคต่างๆ ตลอดจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชน จากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะยากที่จะควบคุมได้เว้นแต่ประชาชนในหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้บริโภค และผู้ขายจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้หีบห่อบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก เป็นหีบห่อบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ใบตอง กระดาษ ที่สามารถย่อสลายได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ในการดำเนินการที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามจึงสนับสนุนให้มีการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยการอบรมการคัดแยกขยะให้ 3 รุ่นในหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อเป็นหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะรีไซเคิล และจัดอบรมขยะอินทรีย์ครัวเรือนครอบคลุมทุกหมู่บ้านในเขตพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2561 โดยการคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย 3 หมู่บ้าน ในส่วนขยะพิษหรือขยะอันตราย ได้จัดให้มีจุดรวบรวมขยะอันตราย ครบทุกหมู่บ้าน ครบร้อยละ 100 ส่วนขยะรีไซเคิล ประชาชนในพื้นที่สามารถคัดแยกและนำไปขายสร้างรายได้ หรือนำไปขายที่โรงงานคัดแยกขยะรีไซเคิลในหมู่บ้านต้นแบบได้
ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม ก็ประสบปัญหาการจัดการขยะเก่าสะสม เช่นเดียวกับหลายๆ ท้องถิ่น ที่ไม่สามารถจัดการขยะเก่าสะสมตกค้างได้ทั้งหมดจนเป็นชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste )จะเห็นได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และค่านิยมของประชาชนในการเลือกซื้ออาหารจากตลาดหรือร้านค้า เพื่อบริโภคมากกว่าการปรุง ประกอบเอง รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกและโฟมจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม จังหวัดยโสธร มีความจำเป็นต้องดำเนินการโครงการเชิงรุก เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่หมู่บ้าน สถานศึกษา อาคาร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลาดสด ดังนั้น กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามจึงได้จัดทำโครงการ “ประชาชนมีส่วนร่วมคัดแยกขยะที่ต้นทาง สร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ” ภายใต้โครงการอบรมการคัดแยกขยะ องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม จังหวัดยโสธร (โครงการต่อเนื่อง)ประจำปีงบประมาณ 2562ขึ้นเพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชน รวมทั้งเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการคัดแยกและจัดการขยะมูลฝอย 4 ประเภทที่เกิดจากแหล่งกำเนิดภายในหมู่บ้าน/ชุมชน และสามารถเป็นต้นแบบหรือแหล่งเรียนรู้ให้หมู่บ้าน/ชุมชนอื่นๆ ได้
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการคัดแยกขยะ“แยกก่อนทิ้ง”
2. เพื่อสร้างวินัยให้กับคนในองค์กร พนักงานส่วนตำบล ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้าง คนงานทั่วไป จ้างเหมาบริการ ในการลดรับ ลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม
3. เพื่อลดปริมาณขยะก่อนนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
4. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการขยะโดยชุมชน
5. เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครัวเรือนและชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. เป้าหมาย/กลุ่มเป้าหมาย
1. อบรมการคัดแยกขยะ โดยการคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเกี้ยงเก่า หมู่ที่ 4, บ้านนางาม หมู่ที่ 6, บ้านโคกศรี หมู่ที่ 9, บ้านคำเลา หมู่ที่ 11 และบ้านคำใหล หมู่ที่ 12 จำนวน 240 คน
2.กิจกรรมลดใช้พลาสติกและกล่องโฟมตามโครงการ“สวมผ้าไทย ใช้ถุงผ้า หิ้วตะกร้า นุ่งซิ่น ถือปิ่นโต” ในวาระ “ยโสธรสะอาดดี”ทุกวันอังคารและวันศุกร์ของสัปดาห์จำนวน 100 คน
3. กิจกรรมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน
4.ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง” ในระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2562ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2562
4. วิธีการดำเนินการ
4.1 ขั้นเตรียมการ
1. ประชุมปรึกษาหารือส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. จัดทำโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาอนุมัติ
4.2 ขั้นดำเนินการ
1. ประชาสัมพันธ์โครงการ
2. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการอบรมการคัดแยกขยะในครัวเรือน หมู่บ้านเป้าหมาย
3. จัดกิจกรรม“สวมผ้าไทย ใช้ถุงผ้า หิ้วตะกร้า นุ่งซิ่น ถือปิ่นโต” ทุกวันอังคารและวันศุกร์
4. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง”(9 มกราคม – 9 มีนาคม 2562)
5. ดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการ
6. ดำเนินงานตามกิจกรรม/โครงการ
4.3 ขั้นสรุปและประเมินผลการดำเนินงาน
1. ติดตามและประเมินผล
2. สรุปผลการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารท้องถิ่น
5. ระยะเวลาในการดำเนินงาน
ตั้งแต่เดือน มกราคม 2562– เดือน สิงหาคม2562
6. สถานที่ดำเนินงาน
6.1 ดำเนินการจัดอบรมการคัดแยกขยะฯ ในหมู่บ้านเป้าหมาย5 หมู่บ้านได้แก่
1. บ้านเกี้ยงเก่า หมู่ที่ 4 2. บ้านนางาม หมู่ที่ 6
3. บ้านโคกศรี หมู่ที่ 9 4. บ้านคำเลา หมู่ที่ 11
5. บ้านคำไหล หมู่ที่ 12
6.2 ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 60 วัน “แยกก่อนทิ้ง”ในทุกพื้นที่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม
6.3 จัดกิจกรรม “สวมผ้าไทย ใช้ถุงผ้า หิ้วตะกร้า นุ่งซิ่น ถือปิ่นโต” ในสำนักงาน/ที่ทำการ องค์การ
บริหารส่วนตำบลโพนงาม จังหวัดยโสธร
6.4 จัดกิจกรรมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม ในตลาดสดและร้านค้าในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม
7. หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ
กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามอำเภอกุดชุมจังหวัดยโสธร
8. งบประมาณโครงการ
งบประมาณจากข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2562 หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่นๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการอบรมการคัดแยกขยะจำนวน 46,0๐๐.- บาทตั้งจ่ายจากเงินอุดหนุนทั่วไป ปรากฏในแผนงานสาธารณสุข รายละเอียดค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. ค่าป้ายประชาสัมพันธ์/ป้ายโครงการจำนวน 5 ป้ายๆ ละ 450บาท เป็นเงิน 2,250 บาท
2. ค่าจัดทำป้ายคัตเอาท์ประชาสัมพันธ์“เราทำความดีด้วยหัวใจลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม”
เป็นเงิน 2,500 บาท
3. ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม จำนวน 240 คนx25บาท x 1มื้อเป็นเงิน 6,000 บาท
4. ค่าจัดซื้อถุงผ้า ขนาด 10.5 นิ้ว*12 นิ้ว จำนวน 100 ชิ้นx 120 บาทเป็นเงิน 12,000 บาท
5. ค่าวัสดุโครงการ (ทำอุปกรณ์สาธิต)ได้แก่ตะกร้าพลาสติก ข้อต่อ เทปพันเกลียว ก๊อกน้ำ ผ้าตาข่าย
ไนล่อน และวัสดุอื่นๆเป็นเงิน 6,650 บาท
6. ค่าวัสดุงานบ้านงานครัว ได้แก่ ถังพลาสติก ขนาด 60 ลิตร จำนวน 100ถัง x90บาท
เป็นเงิน 9,000 บาท
7. ค่าจัดซื้อถังขยะแยกประเภทพร้อมติดสติกเกอร์ ขนาด 100 ลิตร x 950 บาท จำนวน 8 ถัง
เป็นเงิน 7,600 บาท
รวมเป็นเงิน 46,0๐๐ บาท(-สี่หมื่นหกพันบาทถ้วน-)
หมายเหตุ ทุกรายการสามารถถัวเฉลี่ยกันได้

9. การติดตามประเมินผล
1. ประเมินผลจากจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ
2. จำนวนปริมาณขยะที่รับซื้อในแต่ละเดือน
3. จำนวนปริมาณขยะที่ลดลงหลังจากดำเนินการตามโครงการ
10. ผลลัพธ์/ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย
2. ปริมาณขยะในหมู่บ้านชุมชนมีจำนวนลดลงร้อยละ 40 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งหมด
3. หมู่บ้านสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย
4. หมู่บ้านชุมชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงามสะอาดน่าอยู่อย่างยั่งยืน

ผู้เขียนโครงการ/เสนอโครงการ

ลงชื่อณพิชญาภัทร เพชรพลอย
(นางณพิชญาภัทร เพชรพลอย )
เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงานรักษาราชการแทน
ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

ผู้ตรวจสอบโครงการ
ลงชื่อ อมรรัตน์ ศรีวิเศษ
( นางอมรรัตน์ ศรีวิเศษ)
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม

ผู้เห็นชอบโครงการ
ลงชื่อชัยอนันท์ พันธ์เพชร
(นายชัยอนันท์ พันธ์เพชร)
รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม

ผู้อนุมัติโครงการ
ลงชื่อประยงค์ ดวงแก้ว
(นายประยงค์ ดวงแก้ว)
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม





2024-10-17
2024-10-11
2024-10-10
2024-10-10
2024-10-10
2024-10-09
2024-10-09
2024-10-09
2024-10-09
2024-10-09